ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
โรคมะเร็ง – สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่เป็นไปได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
สิ่งที่คุณไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือควบคุมได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง
สิ่งที่คุณสามารถเปลี่ยนหรือควบคุมได้
ความชรา
อายุเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งมากที่สุด
จากสถิติพบว่าคนประมาณร้อยละ 60 ป่วยเป็นมะเร็งเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป และมีคน 60% ที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง
แม้นักวิทยาศาสตร์จะทราบมาหลายปีแล้วว่า อายุเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งหลายชนิด แต่ก็ยังไม่มีผลชัดเจนว่าเหตุใดความชราจึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง
นักวิจัยสงสัยว่าที่เป็นเช่นนี้อาจเกี่ยวข้องกับการเติมหมู่เมธิลที่สายดีเอ็นเอ
ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว
หากมีญาติใกล้ชิด เช่น พ่อแม่พี่น้อง ป่วยเป็นมะเร็ง จะน่ากังวลกว่ากรณีที่มีญาติห่าง ๆ ป่วยเป็นโรคนี้
คนจำนวนมากมีความกังวลว่า หากสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งย่อมหมายความว่าตนเองมีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งมากขึ้นด้วย จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนี้เสมอไป แต่ก็ควรไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
แพทย์จะประเมินความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งโดยซักประวัติการเจ็บป่วยเป็นมะเร็งของครอบครัว จากนั้นแพทย์จะใช้ข้อมูลที่ได้ในการประเมินความเสี่ยงว่าอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยทั่วไป เสี่ยงปานกลาง หรือเสี่ยงมาก
เป็นไปได้ว่าโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวหนึ่ง ๆ อาจเป็นโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดกันในครอบครัว รวมไปถึงโรคมะเร็งชนิดที่พบได้ยาก เช่น มะเร็งไต มะเร็งที่เกิดกับคนอายุน้อยกว่าปกติ มะเร็งที่เกิดขึ้นกับหลายอวัยวะในคนคนเดียวกัน และการมีพี่น้องป่วยเป็นมะเร็งมากกว่าหนึ่งคน
มลพิษ
มีรายงานวิจัยมากมายแสดงให้เห็นว่ามลพิษเพิ่มความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นมะเร็ง
มลพิษทางอากาศมักเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอด และการสูบบุหรี่ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศก็คือ การขนส่ง สารพิษ การเพาะปลูก เชื้อเพลิงฟอสซิล โรงไฟฟ้า และเชื้อเพลิงสำหรับหุงต้มและทำความร้อน
เช่นเดียวกับปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น ๆ ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งจะเพิ่มขึ้น หากสัมผัสกับสารพิษเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างเช่น หากต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ จะทำให้ความเสี่ยงที่เป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่หากมีความเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ จะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
การเจ็บป่วยอื่น ๆ
การเจ็บป่วยอื่น ๆ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเช่นกัน
มะเร็งมีสาเหตุมากมาย จึงยากจะสรุปว่ามะเร็งเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง การเจ็บป่วยอื่น ๆ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ จะมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
ดังนั้นผู้ที่เข้ารับการรักษาจึงควรปรึกษาแพทย์ และรับการทดสอบให้ครบทุกอย่างหากสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง
อาชีพ (เช่น การทำเหมืองแร่)
แต่ละปีมีคนจำนวนไม่มากเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเนื่องจากการประกอบอาชีพ
ในบรรดาผู้ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งจากการประกอบอาชีพ มีจำนวนครึ่งหนึ่งที่เป็นคนงานก่อสร้างผู้ชายที่ต้องสัมผัสกับแร่ใยหินและสารก่อมะเร็ง เช่น ซิลิกา และไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล
ปัจจัยเสี่ยงเรื่องอาชีพที่สำคัญที่สุดก็คือแร่ใยหิน แม้ปัจจุบันจะไม่มีการใช้แร่ใยหินในการก่อสร้างแล้ว แต่ปัจจุบันคนงานที่ต้องดูแลรักษาอาคารเก่า ๆ ก็ยังเสี่ยงที่จะป่วยเป็นมะเร็ง และผู้ที่ป่วยโรคมะเร็งเพราะแร่ใยหินก็ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากโรคมะเร็งต้องใช้เวลาการพัฒนา
นอกจากปัจจัยเรื่องแร่ใยหินแล้ว ปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งก็คือการทำงานกะกลางคืน (เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม) น้ำมันแร่จากอุตสาหกรรมโลหะและการพิมพ์ (เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปอด และมะเร็งผิวหนังชนิดที่ไม่ได้เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี)
การสูบบุหรี่ / การใช้ยาสูบ
ควันจากยาสูบเป็นสารพิษที่มีสารเคมีรวมกันกว่า 7,000 ชนิด การสูบบุหรี่อาจทำให้เกิดมะเร็งได้แทบทุกส่วนของร่างกาย
การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งชนิดอื่น ๆ ด้วย
เวลาคนเราสูดควันบุหรี่เข้าไป ก็จะต้องกลืนควันบางส่วนเข้าไปด้วย จึงทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งไต มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นมะเร็งที่อาจเกิดจากการสูบบุหรี่
นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งช่องปาก (ลิ้น ริมฝีปาก และเหงือก) ตลอดจนมะเร็งปาก และมะเร็งหู คอ จมูก
ผู้ที่ต้องสูดดมควันบุหรี่โดยไม่ได้สูบเอง
สิ่งสำคัญที่ควรทราบก็คือ ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด และผู้ที่สูดดมควันบุหรี่โดยไม่ได้สูบเองก็มีความเสี่ยงเช่นกัน
ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่สูดดมควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็ง
เด็กหรือวัยรุ่นที่สูดดมควันบุหรี่โดยไม่ได้สูบเองอาจป่วยเป็นมะเร็งปอดในภายหลังได้
อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคหอบหืดหรือมีปัญหาทางเดินหายใจอย่างอื่น ๆ
ภาวะนอนไม่หลับเรื้อรัง
การอดนอนอาจฟังดูไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนจำนวนมาก แต่จริง ๆ แล้วเป็นปัญหาที่เราควรตระหนักถึงผลเสียร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
ผู้ที่มีภาวะนอนไม่เป็นเวลา เช่น ผู้ที่ทำงานเป็นกะ จะทำให้นาฬิกาชีวภาพของร่างกายถูกรบกวน และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากเวลาการทำงานที่ไม่ปกติ
ปัญหาการนอนไม่หลับเรื้อรังยังทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง ภาวะสมองขาดเลือด และโรคเบาหวาน
ภาวะเครียดหรือซึมเศร้าเรื้อรัง
หลักฐานจากการศึกษาทดลองชี้ให้เห็นว่า ความเครียดทางจิตใจทำให้เนื้องอกเติบโตและแพร่กระจายได้
ความเครียดเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคนเรา แม้การวิจัยจะไม่ได้ระบุว่าความเครียดเป็นสาเหตุโดยตรงของโรคมะเร็ง แต่การศึกษาก็พบว่าความเครียดเรื้อรังมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาของโรคมะเร็ง
ความเครียดมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง เพราะเวลาที่คนเรารู้สึกเครียดมักจะตัดสินใจเลือกทำอะไรผิด ๆ เช่น เริ่มสูบบุหรี่ หยุดออกกำลังกาย เริ่มรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง
การศึกษาส่วนหนึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงที่ประสบกับเหตุการณ์น่าสะเทือนใจหรือความสูญเสียในช่วงต้น ๆ ของชีวิต มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งมากกว่าคนทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ
การรับประทานอาหารขยะ
การศึกษามากมายพบว่า การรับประทานอาหารขยะทำให้ผู้หญิงเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
การศึกษาครั้งใหญ่ที่ยุโรปพบว่า ผู้หญิงที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน มะเร็งผิวหนัง มะเร็งมดลูก และมะเร็งทางเดินปัสสาวะ
การรับประทานมันฝรั่งทอด เค้ก ขนมหวาน และน้ำหวาน มีส่วนเกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ใหญ่และหวารหนัก แม้ปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยจะได้แก่ การสูบบุหรี่และประวัติครอบครัวที่มีผู้ป่วยมะเร็ง แต่การรับประทานอาหารว่างที่มีน้ำตาลสูงก็เกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
การดื่มแอลกอฮอล์
มีข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าการดื่มแอลกอฮอล์เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด
การดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ นอกจากนี้ยังมีข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ว่า การดื่มแอลกอฮอล์เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด มีหลักฐานการวิจัยแสดงว่ายิ่งดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเป็นระยะเวลานาน ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์มากขึ้นเท่านั้น
มีหลักฐานชัดเจนว่าการดื่มแอลกอฮอล์เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งหู คอ จมูก โรคมะเร็งหลอดอาหาร โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดมีสารก่อมะเร็งเกิดขึ้นในช่วงกระบวนการหมักบ่มและการผลิต เช่น สารฟีนอล ไฮโดรคาร์บอน ไนโตรซามีน และเส้นใยแร่ใยหิน
การปนเปื้อนเหล่านี้มีส่วนทำให้แอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง
น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจนมีผลต่อสุขภาพ
เซลล์ไขมันอาจปลดปล่อยฮอร์โมนที่มีผลต่อการเติบโตของเซลล์ ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง
การมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในผู้ใหญ่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลายชนิด แม้อาจไม่ถึงขั้นน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วนก็ตาม ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าภาวะน้ำหนักตัวเกินทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นได้อย่างไร
น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจนมีผลต่อสุขภาพมักทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพมากมาย เช่น ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต โรคข้อเสื่อม โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ภาวะสมองขาดเลือด และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน โรคมะเร็งไต โรคมะเร็งหลอดอาหาร โรคมะเร็งถุงน้ำดี โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งเยื่อยุมดลูก โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และโรคมะเร็งต่อมไธรอยด์
การเผชิญกับแสงแดดมากเกินไป
รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดจะทำลายดีเอ็นเอในเซลล์ผิวหนัง
โรคมะเร็งผิวหนังส่วนใหญ่เกิดจากการเผชิญกับแสงแดดมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญแดดเป็นเวลานาน ๆ หรือการเผชิญแดดจัด ๆ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่มีอาการผิวไหม้ รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดจะทำลายดีเอ็นเอในเซลล์ผิวหนัง ซึ่งการทำลายดีเอ็นเอนี้อาจเกิดขึ้นหลายปีก่อนที่มะเร็งจะพัฒนาขึ้น
ผู้ที่เผชิญแสงแดดมากเกินไปจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้หลายชนิด เช่น โรคมะเร็งผิวหนังชนิดที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีทำงานผิดปกติ โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบเซลเซลล์ และโรคมะเร็งผิวหนังชนิดสแควมัสเซลล์
ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดมากเกินไป วิธีป้องกันแสงแดดแบบง่าย ๆ ได้แก่ การสวมเสื้อผ้ากันแดด และทาครีมกันแดด